เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย ร่วมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ และพลังประชารัฐสืบเนื่องจากพรรคเหล่านี้เดินทางเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21,28,29 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) หลักเกณฑ์การยุบพรรค ข้อ 11 ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง มาตรา 93
นายนพรุจ กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวว่าบ้านจันทร์ส่องหล้าที่เป็นบ้านพักของนายทักษิณ ได้มีการเรียกบุคคลเข้ามาพบปะ ซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวและมีภาพจากสื่อว่า มีหัวหน้าพรรคดังกล่าวและบุคคลหลายคนเข้าพบนายทักษิณ
แม้ว่านายทักษิณจะกระทำการโดยอ้างว่า เป็นบิดาของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ โดยนายทักษิณได้เรียก รักษาการรมว.กระทรวงต่างๆ เข้าพบ เพื่อผลักดันนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย เป็นว่าที่นายกฯ คนที่ 31 นั่นเป็นหลักฐานที่ตนยื่นในวันนี้ด้วย
ส่วนกรณีที่ยื่นยุบพรรคเพื่อไทยนั้นก็เป็นประจักษ์ว่า นายทักษิณเป็นบิดาของน.ส.แพทองธาร ที่เป็นหัวหน้าพรรค ฉะนั้น การกระทำการใดๆ ของนายทักษิณ เสมือนเป็นการกระทำของพ่อและลูก และเป็นการกระทำที่เข้าข่ายในตามกรณี พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 ที่พรรคจะต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุม ครอบงำ สั่งการ ทำให้พรรคไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างอิสระ
และประกอบมาตรา 29 โดยนายทักษิณ เป็นบุคคลภายนอกของพรรค การเข้าไปแทรกแซงหรือกระทำการใดๆ จนเป็นที่สงสัยว่า นายทักษิณเป็นเจ้าของพรรคเองหรือไม่ หรือเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคหรอไม่
ตนจึงมายื่นหนังสือให้กกต.ได้พิจารณา ซึ่งมีมาตราที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 21 ที่ว่าการกระทำใดๆ จะต้องได้รับมติของพรรค และการกระทำของพรรค ซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคจะต้องกระทำไปด้วยความรอบคอบ ซื่อสัตย์ สุจริต และมีจริตธรรม ธรรมาภิบาลทุกครั้ง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ
นายนพรุจ กล่าวอีกว่า ทุกอย่างที่ผ่านมาบ่งบอกว่า การกระทำของนายทักษิณส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุมพรรค โดยประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่านายทักษิณเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย และรวมถึงการเป็นบิดาของน.ส.แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรค ย่อมมีอิทธิพลเหนือน.ส.แพทองธาร
ส่วนที่น.ส.แพทองธาร บอกว่ามีความคิดเป็นอิสระของตนเองนั้น ตนสงสัยมาตลอดว่าการจัดตั้งรัฐบาลแต่ละครั้งนั้น มีการเรียกบรรดาพรรคร่วมเข้าประชุม เท่าที่ปรากฏทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาลหรือมีนโยบายต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย นายทักษิณก็จะเป็นผู้แสดงความคิดเห็นก่อนพรรคตลอด เสมือนเป็นมติที่พรรคจะลงมติกัน
ฉะนั้น การดำเนินการในบ้านจันทร์ส่องหล้าในวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ได้ว่าเป็นการหารือเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทั้งที่ทางกรมความประพฤติมีข้อห้ามว่า นายทักษิณ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักโทษต้องห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นั่นก็เป็นหน้าที่ของกรมความประพฤติต้องออกมาชี้แจงเรื่องด้วย