จากกรณีเหตุการณ์รุนแรง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฉุนขาดคุกคาม ตบหัวนักข่าวระหว่างผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ถึงประเด็นการโหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี จนคลิปที่บันทึกเหตุการณ์ได้แชร์ไปทั่วโลกออนไลน์
ล่าสุดช่วงเย็นของวันที่ 16 สิงหาคม สำนักข่าวไทยพีบีเอส (Thai PBS) ได้ออกแถลงการณ์ปกป้องผู้สื่อข่าวในสังกัด เรียกร้องให้บิ๊กป้อมรับผิดชอบต่อการกระทำ และเรียงร้องสภาผู้สื่อข่าวร่วมหามาตรการป้องกันสวัสดิภาพคนทำงาน ความว่า
“ตามที่เกิดเหตุการณ์ ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
คุกคามด้วยการตบบริเวณศีรษะ ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังทำหน้าที่ติดตามสัมภาษณ์ที่ สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปีคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปกัมภ์ (บ้านอัมพวัน) เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 16 สิ่งหาคม 2567
และเป็นคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ต่อทางสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางนั้น
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว
การตั้งคำถามด้วยถ้อยคำ และท่าทีที่สุภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกสัมภาษณ์ ดังปรากฏใน
คลิปวิดีโอ ที่ถูกเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์นั้น ชัดเจนว่า เป็นการทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวโดยสุจริต การถูกกระทำ
ทางกายจากแหล่งข่าวเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ และถือเป็นพฤติกรรมที่ย่อมส่งผลกระทบ
ต่อจิตใจ และความรู้สึกปลอดภัยของผู้สื่อข่าว-ช่างภาพ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์เดียวกันนี้ด้วย
ส.ส.ท.มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี และมีความกล้าหาญทางจริยธรรม การคุกคามผู้สื่อข่าวครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์ที่ ส.ส.ท. ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แสดงความรับผิดชอบ และขอให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกันหามาตรการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองสื่อมวลชนต่อไป
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) 16 สิงหาคม 2567
ด้านสมาพันธ์พนักงานไทยพีบีเอส ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนปกป้องเพื่อนพนักงานผู้สื่อข่าวอาวุโส หลังจากถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม
แถลงการณ์ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการคุกคามสื่อมวลชนโดยตรง และเรียกร้องให้ผู้บริหารองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) แสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมไทย และแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์ยังได้อ้างอิงถึงข้อบังคับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ว่าด้วยจริยธรรมของ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ.2551 เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามหลักจรรยาบรรณ
“ด้วยความห่วงใยเพื่อนพนักงานอย่างสูง”