การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมเปิดให้บริการ ขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว เส้นทาง สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ขบวนแรก ในวันที่ 19 ก.ค.2567 ที่จะถึงนี้ เปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าให้กับ ผู้ที่ต้องการใช้บริการแล้ว
โดยเปิดให้บริการไป-กลับ จำนวน 2 ขบวน ประกอบด้วย
รถธรรมดา ชั้น 3 (พัดลม) 152 ที่
รถนั่งปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 64 ที่นั่ง
รถนั่งและนอนปรับอากาศ ชั้น 2 จำนวน 30 ที่นั่งขบวนรถเร็วที่ 133
นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการเส้นทางอุดรธานี – เวียงจันทน์(คำสะหวาด) – อุดรธานี ไป-กลับ อีก 2 ขบวน รวมเป็น 4 ขบวน/วัน
สำหรับราคาค่าโดยสารกรุงเทพ-เวียงจันทน์ มีดังนี้
ค่าตั๋วรถไฟ ขบวนรถเร็ว 133/134 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) – กรุงเทพอภิวัฒน์
รถนั่งชั้น 3 ราคา 281 บาท
รถนั่งชั้น 2 ปรับอากาศ ราคา 574 บาท
รถนอนชั้น 2 ปรับอากาศ ราคา เตียงบน 784 บาท / เตียงล่าง 874 บาท
ส่วนขบวน รถเร็ว 147/148 อุดรธานี – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) – อุดรธานี
อุดรธานี – เวียงจันทน์ ราคา รถพัดลม 100 บาท/รถแอร์ 200 บาท
เที่ยวไป
ขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์
ออกจาก กรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 21.25 น. ถึง เวียงจันทน์ เวลา 09.05 น.
ขบวนรถเร็วที่ 147 อุดรธานี – เวียงจันทน์
ออกจาก อุดรธานี เวลา 16.00 น. ถึง เวียงจันทน์ เวลา 17.55 น.
เที่ยวกลับ
ขบวนรถเร็วที่ 134 เวียงจันทน์ – กรุงเทพอภิวัฒน์
ออกจาก เวียงจันทน์ เวลา 18.25 น. ถึง กรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 07.30 น.
ขบวนรถเร็วที่ 148 เวียงจันทน์ – อุดรธานี
ออกจาก เวียงจันทน์ เวลา ออก 09.35 น. ถึง อุดรธานี เวลา 11.25 น.
สำหรับผู้โดยสารที่มีความประสงค์ซื้อตั๋วโดยสาร ขบวน133/134 สามารถติดต่อซื้อตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งล่วงหน้า (สูงสุด 180 วัน) ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ
ซึ่งผู้โดยสารต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือ หนังสือผ่านแดน (Border Pass) เพื่อใช้ในการทำพิธีการทางศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองที่สถานีหนองคาย และเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ก่อนการเดินทางข้ามประเทศ
ขณะเดียวกันการรถไฟฯ ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมผู้ประกอบการขนส่งที่เวียงจันทน์ ในการจัดรถโดยสารรับ-ส่ง อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อีกด้วย
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดเดินขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ ไทย-สปป.ลาว ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความความสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั้งสองประเทศแล้ว
ยังช่วยยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ไทย ให้กลายเป็นศูนย์กลางภูมิภาคตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาล ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการให้การรถไฟฯ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ โดยให้เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุดในทุกๆด้าน ก่อนที่จะมีเปิดให้บริการเดินรถเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการค้าชายแดนระหว่างไทย -สปป.ลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว Tourism Hub ที่สำคัญของโลก ตามยุทธศาสตร์ “เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวของรัฐบาล
โดยขบวนรถ สามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่นอีก ซึ่งจะก่อให้ประโยชน์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย