แต่ล่าสุดกลับมีข้อมูลว่า นายชาญ พวงเพ็ชร์ มีคดีค้างเก่าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และมีการประทับรับฟ้องไว้แล้ว จนอาจจะส่งผลให้นายชาญต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่หรือไม่
โดยคดีดังกล่าว เป็นกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี 2555 ซึ่งกระบวนการในปัจจุบัน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งประทับฟ้องคดีนี้แล้ว และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
ทั้งนี้ในส่วนของคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 ลงมติชี้มูลความผิด นายชาญ พวงเพ็ชร์ และพวก กรณีถูกกล่าวหาทุจริตในการจัดซื้อถุงยังชีพในโครงการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 ครั้ง เมื่อปี 2554 มูลค่านับล้านบาท
ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง เห็นชอบตามความเห็นคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น ว่า การกระทำของนายชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และ มาตรา 162 (1) , (4)ประกอบมาตรา 91 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192
นอกจากนี้ ยังมีมูลความผิด ฐานละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79
ทั้งนี้คดีดังกล่าว ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง หลังไม่สามารถหาข้อยุติความไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีกับฝ่ายอัยการได้ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดนั้นมีรายงานว่า มีการนัดไต่สวนสืบคดีในช่วงกลางเดือน ก.ค.2567 นี้ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ นายชาญ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่เนื่องจากตามความเห็นทางกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฏีกา ที่ตอบข้อหารือ กระทรวงมหาดไทย เรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริหารท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีการให้ความเห็นว่า เมื่อศาลคดีอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ประทับรับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 93 อันเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของกฎหมาย ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากตำแหน่งและกลับมาดำรงดำแหน่งเดิมใหม่ โดยผู้กำกับดูแลมิต้องมีคำสั่งอีก แต่ผู้กำกับดูแลมีหน้าที่จะต้องดูแลให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตามนอกจากคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพแล้ว ยังมีรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี 2560 นายชาญ พวงเพ็ชร์ นายก อบจ.ปทุมธานี ในขณะนั้น ปรากฏชื่อเป็น 1 ใน 5 ผู้บริหารระดับของ อบจ. ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 35/2560 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นเหตุทำให้ต้องถูกระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพื่อเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากหน่วยงานตนสังกัดเป็นทางการ
โดยกรณีดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย เมื่อช่วงปี 2555-2556 จำนวนหลายสัญญา ซึ่งถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีการตั้งราคาจัดซื้อสูงเกินกว่าความเป็นจริงถึงกว่า 40 ล้านบาท และมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีการผลการไต่สวนหรือชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐรายใด