เมื่อวันที่ 15 ก.ค.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แถลงภายหลังการประชุม ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบถึงแหล่งที่มาของเงินใหม่ สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ปรับเปลี่ยนคือ เราได้ดำเนินการตามข้อห่วงใยของหน่วยงานตรวจสอบ ในการที่เราไปดูในเรื่องของแหล่งที่มาของเงินของกรอบวงเงินต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้ลดขนาดโครงการ ยังคงอยู่ที่ 50 ล้านคนเช่นเดิม แต่เมื่อไปดูแล้วโครงการในอดีตของรัฐ ไม่มีโครงการไหนมีผู้ลงทะเบียนเกินกว่า 90 % การตั้งงบประมาณที่เพียงพอเหมาะ จึงเป็นแนวที่หน่วยงานตรวจสอบได้เคยให้ไว้
ดังนั้นจึงตั้งงบประมาณวางไว้ว่า 45 ล้านคน คือ 450,000 ล้านบาท นั่นคือการเตรียมเงินไว้รองรับ แต่ขนาดของโครงการยังคงเป็น 50 ล้านอยู่ หากมีคนลงทะเบียนน้อยกว่าหรือมากกว่า เราจะใช้กลไกในการบริหารงบประมาณ เพื่อให้มีเงินทุกบาททุกสตางค์เพียงพอ สำหรับการจัดสรรเข้าไปในโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทดิจิทัลวอลเล็ตได้
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เมื่อดูในเรื่องของตัวเงินที่มีความจำเป็นต้องเตรียมน้อยลง ประกอบกับมีข้อห่วงใยในเรื่องของการใช้มาตรา 28 ด้วย และประกอบกับหลังจากเราบริหารจัดการมาตอนนี้ใกล้สิ้นปีงบประมาณ เราเริ่มเห็นความชัดเจนของตัวเงิน ทางหน่วยงานคือ กระทรวงการคลังร่วมกับสำนักงบประมาณ หารือกันนำเสนอในเรื่องของตัวเลขโครงสร้างของกรอบแหล่งเงินใหม่ ซึ่งวันนี้ที่ประชุมเห็นชอบ คือ ไม่มีมาตรา 28 ประกอบไปด้วยงบประมาณปี 67 และ 68 อย่างที่ได้เรียนครั้งที่แล้ว ซึ่งเพียงพอและสามารถดำเนินการได้ในกรอบของงบประมาณ
เมื่อถามว่ามีตัวเลขที่ชัดสำหรับงบประมาณปี 67 และ 68 ที่จะใช้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ปี 67 เป็นงบประมาณเพิ่มเติม 122,000 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 17 ก.ค. 67 บวกกับงบประมาณในการบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบประมาณอีก 43,000 ล้านบาท แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นงบกลางได้ อันนี้เป็นการบริหารจัดการที่สามารถทำได้ แต่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น และงบของปี 68 อีก 152,000 ล้านบาท และงบประมาณในการบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบประมาณของปี 68 อีก 132,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดิม
เมื่อถามว่าในส่วนงบประมาณในการบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบประมาณของปี 68 จำนวน 132,000 ล้านบาท จำเป็นต้องตั้งพ.ร.บ.งบประมาณ กลางปี 68 เพิ่มอีกหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า มันคือการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งสามารถทำได้ แต่ยังไม่อยู่ในแผนการ ก็สามารถบริหารจัดการได้ในกรอบที่เราได้รับมาอยู่ งบประมาณที่ผูกพันไม่ทัน งบประมาณที่ใช้ยังไม่สำเร็จ รวมถึงกลไกการบริหารจัดการงบประมาณมีอยู่ค่อนข้างหลากหลาย สามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบนั้น
เมื่อถามว่าจะขยับไทม์ไลน์หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ไทม์ไลน์การเปิดและปิดลงทะเบียนจะแจ้งอีกทีในวันที่ 24 ก.ค. วันนี้คณะที่ประชุมมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับไปกำหนดกรอบในรายละเอียด วันเริ่มและวันปิดมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวันนี้เราพอเห็นภาพแล้ว การทำงานในส่วนของด้านตัวระบบเองมีความคืบหน้าที่น่าพอใจ และเราเห็นถึงวันที่มีความพร้อมในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งยังอยู่ในกรอบเดิมในไตรมาส 4 แน่นอน
เมื่อถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นอย่างไรในเรื่องความพร้อมของระบบ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเห็นว่าระบบต้องมีความปลอดภัยและมั่นคง ซึ่งขั้นตอนต่อมาก็มีหนวยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบนำเสนอ ก็ไม่ได้มีคอมเมนต์เพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีช่วงหนึ่งที่จะต้องดึงธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมในการดูการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของระบบ กระบวนการกลไกที่เราทำมาก็เป็นไปตามกรอบของความมั่นคงปลอดภัยอย่างสูงสุด
เมื่อถามว่ามีการจ้างบุคคลภายนอก (outsorce) สำหรับทำแพลตฟอร์มกลางแล้วหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า อันนั้นเป็นเรื่องของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งได้ดำเนินการมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งเริ่ม เขาเริ่มในเรื่องของ architecture design เขาเริ่มในเรื่องของการทำข้อกำหนดต่างๆ มานานมากแล้ว คงมีการส่งมอบให้กับ outsource ต่อไป
เมื่อถามว่า จากที่ได้เคยกล่าวไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ว่าโครงการนี้จะเป็นเงินก้อนใหม่ที่ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ เมื่อเป็นการใช้งบประมาณปี 68 จะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจได้อย่างไร นายจุลพันธ์กล่าวว่า อันนี้เป็นเรื่องที่เรารับทราบ แต่กระบวนการในการเดินหน้าทั้งหมด ต้องเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย สองคือ งบประมาณที่เราทำอย่างเช่นปี 67 เอง งบเพิ่มเติมก็คือการทำกรอบการขาดดุลเพิ่ม ก็เป็นเงินใหม่เช่นเดียวกัน ในส่วนของงบประมาณในการบริหารจัดการทางการคลังและการบริหารงบประมาณอีก 43,000 ล้านบาท ก็เป็นส่วนของงบประมาณที่ได้มีภารกิจลงในปีงบประมาณปัจจุบัน ก็อาจจะหมุนไปทำภารกิจอื่น แต่เราก็หมุนมาทำโครงการนี้ ให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ ซึ่งต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กระบวนการการใช้เงินของประชาชนมีประสิทธิภาพในการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า ไม่มีความล่าช้าและสามารถใช้ได้หลายรอบ และยังยืนว่าพายุหมุนทางเศรษฐกิจจะยังคงเกิดขึ้น
เมื่อถามว่าเงื่อนไขของโครงการในเรื่องของร้านค้าและสินค้าได้รับการเห็นขอบในการประชุมวันนี้หรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า เห็นชอบตามนั้นเรื่องของ negative list แต่ด้มีข้อสังเกตในที่ประชุม ซึ่งเป็นไปตามที่มีการนำเสนอนั่นคือ เปิดความยืดหยุ่นให้กับกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้กำหนด negative list ไม่ว่าจะเพิ่มเติมหรือปรับลดตามความจำเป็นต่อไป แต่ต้องมาพูดคุยกันในคณะอนุกรรมการอีกที ไม่ได้มีอำนาจในการดึงรายชื่อเข้าออกได้เลย แต่เปิดโอกาสให้มีนำเสนอเพิ่มเติม เพราะอย่างวันนี้มียกตัวอย่างบางอย่างที่เรายังไม่ได้คุยกัน สินค้าเช่นอาวุธปืนว่าเป็นสินค้าอีกหนึ่งกลุ่มที่ควรจะพิจารณา ซึ่งเราก็รับข้อเสนอและให้กระทรวงพาณิชย์ไปดู เพื่อที่จะนำเสนอในคณะกรรมการต่อไป
ส่วนที่มีการเสนอในที่ประชุมในเรื่องของผู้เข้าร่วมโครงการ มีกลุ่มที่ถูกตัดออกเพิ่มเติมคือ กลุ่มผู้ที่เคยกระทำผิดเงื่อนไขโครงการของรัฐ และมีเรื่องของการฟ้องร้องเรียกเงินคืนในอดีต ไม่ว่าจะร้านค้าหรือบุคคลก็ตาม ก็มีความจำเป็นต้องตัดออก เพราะเรามองว่าถ้าหากให้สิทธิไป อาจจะนำกลับไปทำผิดอีก
เมื่อถามว่ามีการวางไทม์ไลน์หลังจากวันนี้อย่างไรบ้าง นายจุลพันธ์กล่าวว่า เข้าใจว่าจะนำเสนอต่อครม. สัปดาห์หน้า (23 ก.ค.) และวันที่ 24 ก.ค. จะแถลงใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนรายละเอียดการเปิดลงทะเบียนของร้านค้าให้รอวันที่ 24 ก.ค. เช่นกัน พร้อมกล่าวติดตลกว่า เดี๋ยววันนั้นไม่มีอะไรจะคุย
เมื่อถามว่า บริษัท outsource ที่ทำแอพพลิเคชัน เป็นของธนาคารกรุงไทยหรือไม่ นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบ อย่าไปเขียนกันเอง เห็นมีการเขียนกันหลายรอบแล้ว ไม่รู้ไปเขียนมาจากไหน ส่วนแอพที่มีการปล่อยมาก่อนหน้านี้ คือแอพทางรัฐ ซึ่งเป็นหน้าต่างในการเข้าถึง ไม่ใช่ระบบ settlement แต่เป็นระบบในการ ยืนยันตัวตน kyc kym และระบบในการเช็กสิทธิ