สินมั่นคงประกันภัย รมว.คลัง เซ็นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว

Author:

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เซ็นลงนามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1364/2567 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไปแล้วเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

ตามที่ปรากฎหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะ และการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ดังปรากฏข้อเท็จจริงมาเป็นลำดับ ดังนี้

1. นายทะเบียนได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยข้อ 1 กำหนดให้บริษัทเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพันและให้มีอัตราส่วนของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 1 ปี แต่บริษัทได้อุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้พิจารณาแล้วมีมติยกอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566

2. บริษัทยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ซึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 901/2 (3) กำหนดว่า นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดชาด ห้ามมิให้กรมการประกันภัย ซึ่งในปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของลูกหนี้ หรือสั่งให้ลูกหนี้หยุดประกอบกิจการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคำร้องขอ

3. บริษัทไม่ดำเนินการเพิ่มทุนและแก้ไขฐานะการเงินให้เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว และเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามคำสั่งนายทะเบียนบริษัทได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวออกไป โดยอ้างเหตุผลว่าอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนการพื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติลัมละลาย พุทธศักราช 2483 ของศาลล้มละลายกลาง

4. เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ซึ่งปรากฎผลการนับคะแนนว่า แผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ แต่ผู้ทำแผนยื่นคำร้องคัดค้านการนับคะแนนการลงมติของเจ้าหนี้กับศาลล้มละลายกลาง ซึ่งศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ตรวจสอบกระบวนการและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการลงมติล่วงหน้าของเจ้าหนี้ โดยศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งในวันที่ 15 ธันวาคม 2566

5. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รายงานการนับผลลงมติของเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งปรากฎว่า คะแนนการลงมติของเจ้าหนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเจ้าหนี้ไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และในวันดังกล่าวศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้คู่ความทุกฝ่ายทราบผลคำสั่งตามกฎหมายแล้ว

6. เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้พื้นฟูกิจการ อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ คือ “บริษัท” จึงกลับไปเป็นของผู้บริหารของบริษัท และให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทกลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ การยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการดังกล่าวยังส่งผลให้การกำกับดูแลบริษัท กลับมาเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยตามกฎหมาย ว่าด้วยประกันวินาศภัย จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าว นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 เรื่องให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

7. นอกจากนี้ได้ปรากฏข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนที่จะนำเสนอรัฐมนตรีใช้อำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ดังนี้

(1) ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จำนวน 33,680.22 ล้านบาท จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 ไม่ครบถ้วน จำนวน 35,054.71 ล้านบาท จัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอจำนวน 36,419.71 ล้านบาท และบริษัทมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย จำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากฐานะการเงินของบริษัท แสดงให้เห็นว่า บริษัทไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยและกฎหมายกำหนด และไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามสัญญาประกันภัยที่ บริษัทมีภาระผูกพันที่มีอยู่กับผู้เอาประกันภัยได้ และจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้สอบถามและติดตามความคืบหน้าจากบริษัทเกี่ยวกับการแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าบริษัทจะเพิ่มทุนเพื่อแก้ไขฐานะการเงินอย่างแน่นอน จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินและมีฐานะการเงินไม่มั่นคง

ซึ่งหากประกอบธุรกิจต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ตามมาตรา 59 (1) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (2) บริษัทมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามความในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ตามมาตรา 59 (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ดังนี้

(ก) บริษัทไม่ได้บันทึกรายการค่าสินไหมทดแทนในสมุดทะเบียนและสมุดบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องลงรายการนั้น อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

(ข) บริษัทไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้อง หรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยและกฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการใช้เงิน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย

(ค) บริษัทไม่กระทำการแจ้งผลการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่บริษัทกำหนด เป็นความผิดตามมาตรา 37 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการประกอบธุกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559

(ง) บริษัทจัดสรรเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัทและเงินสำรองสำหรับค่าสินไหมทดแทนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ เงินสำรองสำหรับค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2554 (3) เมื่อศาลล้มละลายกลางยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัทได้เลิกจ้างพนักงานทั้งหมดรวมจำนวน 1,456 คน และจ่ายเงินค่าจ้างและค่าชดเชยแรงงานทั้งหมดแล้วภายในวันดังกล่าว พฤติการณ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าบริษัทไม่ประสงค์จะประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยอีกต่อไป จากข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฎดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว

เห็นว่าบริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน รวมถึงบริษัทไม่มีแนวทางในการแก้ไขฐานะการเงิน มีประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันทำให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ บริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป

จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ถือเป็นการปิดฉากบริษัทประกันวินาศภัยของประเทศไทยรายที่ 5 ที่ปิดกิจการจากผลกระทบจากการขายประกันภัยโควิด โดย 4 บริษัทก่อนหน้านี้ที่ปิดตัวไป ประกอบด้วย 1. บริษัทเอเชียประกันภัย 2. บริษัทเดอะวันประกันภัย 3. บริษัทไทยประกันภัย และ

4. บริษัทอาคเนย์ประกันภัย โดยหลังจากนี้กองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท และเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยประกาศกำหนด โดยการยื่นจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชี จะประกาศแจ้งให้ทราบถึงกำหนดวัน เวลา และวิธีการยื่นคำทวงหนี้อีกครั้ง เพื่อให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำทวงหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 61/3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ดังนั้น จึงขอให้บรรดาเจ้าหนี้ของบริษัทโปรดติดตามประกาศของกองทุนประกันวินาศภัยอย่างใกล้ชิด ได้ที่เว็บไซต์กองทุนประกันวินาศภัย www.gif.or.th และ Facebook Fanpage “กองทุนประกันวินาศภัย” โดยการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัยขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท

ที่มา prachachat

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *